เรื่องของเวลา

บริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพสไตล์อีลอน มัสก์

บริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพสไตล์อีลอน มัสก์

ใครเคยสงสัยบ้างว่า นักธุรกิจที่มีธุรกิจมูลค่ามหาศาล มีพนักงานนับหมื่นคน มีโรงงาน มีสาขานับร้อยนับพันแห่งทั่วโลก เขามีวิธีการจัดการกับเวลาที่มีเพียง 24 ชั่วโมงเท่ากับเราอย่างไร ทำไมเขาถึงบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพจนสร้างผลงานระดับโลกออกมาอยู่เสมอ ทั้งที่งานที่ต้องคิดต้องทำน่าจะมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัวนัก

หนึ่งในนักธุรกิจ นักสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับโลกเจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่าและบริษัทด้านกิจการอวกาศสเปชเอ็กซ์ อย่างอีลอน มัสก์ ก็เป็นหนึ่งในบุคคลตัวอย่างที่ถูกพูดถึงว่าเขาสามารถบริหารจัดการเวลาการทำงานและชีวิตส่วนตัวในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคนหนึ่ง หลายคนคงอยากทราบว่าอีลอน มัสก์มีวิธีบริหารจัดการเวลาอย่างไรในแต่ละวัน เขาจึงทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนกลายเป็นบุคคลระดับโลกที่ทุกคนต่างยอมรับกัน เรามาดูกัน ดังนี้

1. ในแต่ละสัปดาห์อีลอน มัสก์ทำงาน 80-100 ชั่วโมง
คนทั่วไปทำงานกันสัปดาห์ 40-60 ชั่วโมงก็แทบจะหมดแรง แต่คนที่เป็นผู้บริหารที่ร่ำรวยมหาศาลอย่างอีลอน มัสก์กลับทุ่มเททำงานมากกว่าคนทั่วไปถึง 20-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

2. เทคนิคการบริหารจัดการเวลาแบบ Time boxing
อีลอน มัสก์เป็นหนึ่งในคนดังหลายคนที่ใช้หลักการบริหารเวลาแบบที่เรียกว่า time boxing หรือการกำหนดกิจกรรมการทำงานตามกล่องต่าง ๆ โดยวิธีการก็คือ เขาจะสร้างกล่องสี่เหลี่ยมขึ้นมาหลาย ๆ กล่องอาจจะเป็นกล่องจริง ๆ หรือกล่องโดยสมมติก็ได้ เสร็จแล้วก็เขียนสิ่งที่ตั้งใจจะทำลงไปในกล่องแต่ละใบ พร้อมระบุเวลาที่ต้องการจะทำให้สำเร็จลงไปด้วย

3. เรียนรู้เวลาที่ควรใช้ในกล่องแต่ละใบ
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ระบุลงในกล่องแต่ละใบ ในครั้งแรกจะไม่มีทางทราบได้ว่ากิจกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรืองานส่วนตัวต้องใช้เวลาทำเท่าไหร่งานจึงจะสำเร็จ หรือคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปมากที่สุด จึงต้องใช้วิธีประมาณการเอาไว้ก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ปรับระยะเวลาให้ตรงกับความเหมาะสมในภายหลัง

4. หาจุดบกพร่องจากกล่องที่ใช้เวลามากเกินไป
เมื่อลงมือทำงานตามกิจกรรมที่ระบุไว้ในแต่ละกล่อง หากกิจกรรมหรืองานชิ้นไหนที่ใช้เวลามากเกินที่กำหนดไว้ หลังจากจบวัน เราสามารถนำกิจกรรมในกล่องนั้นมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เราทำงานได้ล่าช้า เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงขั้นตอนการทำงานใหม่ในครั้งหน้า

5. กำหนดเวลาทำให้เราเลือกทำเฉพาะงานที่จำเป็น
การมีกรอบเวลาในสิ่งที่ต้องการจะทำในแต่ละอย่าง จะช่วยให้การทำงานที่ไม่จำเป็นและเรื่องไร้สาระถูกขจัดออกไป จะเหลือเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย เพราะมีกรอบเวลามาเป็นตัวบีบบังคับ

หลายคนอาจจะมองว่าการบริหารเวลาแบบนี้ เป็นการกดดันตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า นี่อย่างไรเล่าที่เป็นความแตกต่างระหว่างคนทั่วไปกับคนอย่างอีลอน มัสก์ เพราะคนที่คิดงานใหญ่ระดับโลกได้ สิ่งที่เราเรียกว่าความกดดัน พวกเขาเรียกสิ่งนั้นว่า “ความท้าทาย”